ความแตกต่างระหว่างบล็อกเชนและ Bitcoin

2024-02-01

สำหรับผู้ที่ยังใหม่กับคริปโทเคอร์เรนซี สองคำนี้อาจทำให้สับสนและเข้าใจผิดได้ บางคนใช้คำว่า Bitcoin เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน ในขณะที่บางคนจะใช้คำว่าบล็อกเชนเมื่อพูดถึงคริปโทเคอร์เรนซีทั่วไป แต่คำเหล่านี้ไม่สามารถใช้แทนกันได้เนื่องจากเป็นคำที่หมายถึงแนวคิดที่ต่างกันแต่มีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างคำเหล่านี้ ในบทนี้ เราจะมากล่าวถึงพื้นฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชน คริปโทเคอร์เรนซี และ Bitcoin

การเปรียบเทียบขั้นพื้นฐานที่สุด

ลองคิดแบบนี้

  • เว็บไซต์เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ใช้ในการแชร์ข้อมูล

  • เครื่องมือค้นหาเป็นหนึ่งในวิธีในการใช้เทคโนโลยีเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักมากที่สุด

  • ดังนั้น Google เป็นตัวอย่างหนึ่งของเครื่องมือค้นหาที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักมากที่สุด


ในทำนองเดียวกัน

  • บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ใช้ในการบันทึกข้อมูล (บล็อกข้อมูล)

  • คริปโทเคอร์เรนซีเป็นหนึ่งในวิธีการใช้งานบล็อกเชนที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักมากที่สุด

  • ดังนั้น Bitcoin ก็เป็นตัวอย่างแรกของคริปโทเคอร์เรนซีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

บล็อกเชน: แนวคิด

บล็อกเชนส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบให้เป็นบัญชีแยกประเภทดิจิทัลแบบกระจายอำนาจโดยไม่มีการรวมศูนย์ สรุปง่ายๆ บล็อกเชนคือบัญชีแยกประเภทดิจิทัลที่โดยพื้นฐานแล้วเป็นเวอร์ชันอิเล็กทรอนิกส์ของบัญชีแยกประเภทแบบกระดาษ และใช้เพื่อการบันทึกรายการธุรกรรม

หากจะกล่าวให้เจาะลึกยิ่งขึ้น บล็อกเชนเป็นห่วงโซ่เชิงเส้นของบล็อกหลายๆ บล็อกที่เชื่อมต่อเข้าด้วยกันและรักษาความปลอดภัยโดยการพิสูจน์การเข้ารหัส เทคโนโลยีบล็อกเชนยังอาจนำไปใช้กับกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีการดำเนินการทางการเงิน แต่ในบริบทของคริปโทเคอร์เรนซี เทคโนโลยีบล็อกเชนจะใช้เพื่อการเก็บบันทึกธุรกรรมที่ยืนยันแล้วทั้งหมดอย่างถาวร

"กระจาย" และ "กระจายอำนาจ" หมายถึงวิธีการจัดโครงสร้างและรักษาบัญชีแยกประเภท เพื่อให้เข้าใจถึงความแตกต่าง ให้ลองนึกถึงรูปแบบทั่วไปของบัญชีแยกประเภทแบบรวมศูนย์ เช่น บันทึกสาธารณะเกี่ยวกับการขายบ้าน บันทึกการถอนเงินผ่านตู้ ATM ของธนาคาร หรือรายการสินค้าที่ขายได้ของ eBay ในทุกกรณี จะมีเพียงองค์กรเดียวเท่านั้นที่ควบคุมบัญชีแยกประเภท ได้แก่หน่วยงานรัฐบาล ธนาคาร หรือ eBay ปัจจัยทั่วไปอีกประการหนึ่งคือจะมีสำเนาหลักเพียงสำเนาเดียวของบัญชีแยกประเภท และถ้ามีสำเนาอื่นก็จะเป็นเพียงการสำรองข้อมูลที่ไม่ใช่บันทึกอย่างเป็นทางการ ดังนั้นบัญชีแยกประเภทแบบดั้งเดิมจึงเป็นแบบรวมศูนย์ เนื่องจากมีการดูแลโดยหน่วยงานเดียวและมักจะอาศัยฐานข้อมูลเดียว

ในทางตรงกันข้าม บล็อกเชนมักจะถูกสร้างขึ้นเป็นระบบกระจายที่ทำหน้าที่เป็นบัญชีแยกประเภทแบบกระจายศูนย์ ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีสำเนาของบัญชีแยกประเภท (กระจาย) และไม่มีหน่วยงานควบคุมเพียงหน่วยงานเดียว (กระจายอำนาจ) กล่าวง่ายๆ ได้ว่า ผู้ใช้ทุกคนที่ตัดสินใจเข้าร่วมและมีส่วนร่วมในกระบวนการรักษาเครือข่ายบล็อกเชนจะเก็บสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ของข้อมูลบล็อกเชน ซึ่งจะอัปเดตบ่อยครั้งด้วยธุรกรรมล่าสุดทั้งหมด โดยซิงโครไนซ์กับสำเนาของผู้ใช้รายอื่น

กล่าวได้อีกอย่างว่า ระบบแบบกระจายจะดูแลโดยผู้ใช้จำนวนมากที่ทำงานร่วมและกระจายอยู่ทั่วโลก ผู้ใช้เหล่านี้เรียกอีกอย่างว่าโหนดของ Network และโหนดเหล่านี้ทั้งหมดมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบและตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมตามกฎของระบบ ผลที่ได้จึงเป็นการกระจายอำนาจ (ไม่มีหน่วยงานกลาง)

บล็อกเชน: การปฏิบัติ

บล็อกเชนได้ชื่อมาจากวิธีการจัดระเบียบบันทึก: ห่วงโซ่ของบล็อกที่เชื่อมโยงกัน โดยพื้นฐานแล้ว บล็อกคือชิ้นส่วนของข้อมูล และรวมถึงข้อมูลรายการธุรกรรมล่าสุด (เช่น หน้าที่พิมพ์ของรายการ) บล็อก ตลอดจนธุรกรรมต่างๆ จะมองเห็นได้เป็นสาธารณะ แต่จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (เหมือนกับการใส่แต่ละหน้าลงในกล่องกระจกที่ปิดสนิท) เมื่อมีการเพิ่มบล็อกใหม่ลงในบล็อกเชน ก็จะสร้างบันทึกต่อเนื่องของบล็อกที่เชื่อมโยงขึ้น (เช่นเดียวกับบัญชีแยกประเภทแบบกระดาษที่มีบันทึกหลายหน้า) นี่เป็นการเปรียบเทียบแบบง่ายๆ แต่กระบวนการจริงมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก

หนึ่งในเหตุผลหลักที่บล็อกเชนทนทานต่อการดัดแปลงเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าบล็อกต่างๆ จะเชื่อมโยงและรักษาความปลอดภัยด้วยการพิสูจน์การเข้ารหัส ในการสร้างบล็อกใหม่ ผู้เข้าร่วม Network จะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมการคำนวณที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่เรียกว่าการขุด โดยพื้นฐานแล้ว Miner มีหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบธุรกรรมและจัดกลุ่มเป็นบล็อกที่สร้างขึ้นใหม่ จากนั้นจึงเพิ่มธุรกรรมลงในบล็อกเชน (หากตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด) และยังมีหน้าที่ยังรับผิดชอบแนะนำเหรียญใหม่ๆ เข้าสู่ระบบ ซึ่งจะออกให้เป็น Reward สำหรับงานของ Miner ด้วย

ทุกบล็อกที่ได้รับการยืนยันใหม่จะเชื่อมโยงกับบล็อกก่อนหน้านั้น ข้อดีของระบบนี้คือ การเปลี่ยนแปลงข้อมูลในบล็อกที่เพิ่มลงในบล็อกเชนแล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากข้อมูลเหล่านั้นได้รับการรักษาความปลอดภัยด้วยการพิสูจน์การเข้ารหัส ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมากในการผลิตและยากอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนกลับ

สรุปได้ว่า บล็อกเชนคือกลุ่มของบล็อกข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งจัดเรียงตามลำดับเวลาและได้รับการรักษาความปลอดภัยด้วยการพิสูจน์การเข้ารหัส

คริปโทเคอร์เรนซี

กล่าวโดยง่ายได้ว่า คริปโทเคอร์เรนซีคือเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนภายใน Network แบบกระจายของผู้ใช้ ซึ่งแตกต่างจากระบบธนาคารแบบดั้งเดิม เพราะจะมีการติดตามธุรกรรมเหล่านี้ผ่านบัญชีแยกประเภทดิจิทัลสาธารณะ (บล็อกเชน) และอาจเกิดขึ้นโดยตรงระหว่างผู้เข้าร่วม (Peer-to-Peer) โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง

"คริปโต" หมายถึงเทคนิคการเข้ารหัสที่ใช้ในการรักษาความปลอดภัยระบบเศรษฐกิจ และเพื่อความมั่นใจว่าการสร้างหน่วยคริปโทเคอร์เรนซีใหม่และการตรวจสอบธุรกรรมเป็นไปอย่างราบรื่น

แม้ว่าเราไม่อาจขุดคริปโทเคอร์เรนซีได้ทุกประเภท แต่ก็มีหลายสกุล เช่น Bitcoin ที่ต้องใช้กระบวนการขุดโดยมีการเติบโตของจำนวนที่หมุนเวียนอยู่ในระบบที่ช้าและควบคุมได้ ดังนั้น การขุดจึงเป็นวิธีเดียวที่จะสร้างหน่วยใหม่ให้กับเหรียญเหล่านี้ และเป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อที่คุกคามสกุลเงิน Fiat แบบดั้งเดิม ซึ่งรัฐบาลสามารถควบคุมปริมาณเงินได้

Bitcoin

Bitcoin คือคริปโทเคอร์เรนซีสกุลแรกที่สร้างขึ้น และแน่นอนว่าเป็นเหรียญที่มีชื่อเสียงที่สุด ซึ่งเปิดตัวในปี 2009 โดยผู้พัฒนานามแฝงว่า Satoshi Nakamoto มีแนวคิดหลักคือการสร้างระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอิสระและกระจายอำนาจ โดยอาศัยการพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์และการเข้ารหัส

แม้จะเป็นที่รู้จักมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้มีเพียงแค่ Bitcoin อย่างเดียว ยังมีคริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละเหรียญมีคุณสมบัติและกลไกเฉพาะของตัวเอง นอกจากนี้ ไม่ใช่ว่าทุกคริปโทเคอร์เรนซีจะมีบล็อกเชนเป็นของตัวเอง บางส่วนก็สร้างขึ้นจากบล็อกเชนที่มีอยู่แล้ว ในขณะที่บางส่วนถูกสร้างขึ้นใหม่ตั้งแต่ศูนย์

เช่นเดียวกับคริปโทเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ Bitcoin เองก็มีอุปทานจำกัด ซึ่งหมายความว่าระบบจะไม่สร้าง Bitcoin อีกต่อไปหลังจากถึงขีดจำกัดอุปทานสูงสุดแล้ว แม้ว่าโปรเจกต์ต่างๆ จะมีขีดจำกัดแตกต่างกันไป แต่อุปทานสูงสุดของ Bitcoin ตั้งเอาไว้ที่ 21 ล้านหน่วย โดยปกติแล้ว อุปทานทั้งหมดจะเป็นข้อมูลสาธารณะที่กำหนดไว้เมื่อมีการสร้างคริปโทเคอร์เรนซี คุณสามารถตรวจสอบจำนวนที่หมุนเวียนอยู่ในระบบและราคา Bitcoin ได้ที่ Binance Info

โปรโตคอล Bitcoin เป็นโอเพ่นซอร์ส และทุกคนสามารถตรวจสอบหรือคัดลอกโค้ดได้ และนักพัฒนาจำนวนมากทั่วโลกมีส่วนร่วมในการพัฒนาโปรเจกต์