เอกสารไวท์เปเปอร์ของคริปโทเคอร์เรนซีคืออะไร

2024-01-22

เอกสารไวท์เปเปอร์ของคริปโทเคอร์เรนซีคืออะไร

ข้อมูลโดยย่อ

เอกสารไวท์เปเปอร์ของคริปโทเคอร์เรนซีช่วยให้โปรเจกต์สามารถอธิบายถึงผลิตภัณฑ์และเป้าหมายแก่กลุ่มเป้าหมายได้ โปรเจกต์สามารถเลือกได้อย่างอิสระว่าต้องการให้ข้อมูลประเภทใดบ้าง แต่เอกสารไวท์เปเปอร์มักจะประกอบด้วยภาพรวมของเป้าหมายของโปรเจกต์, Tokenomics, ผลิตภัณฑ์, คุณสมบัติ และข้อมูลเกี่ยวกับทีม ด้วยเหตุนี้ เอกสารไวท์เปเปอร์จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับโปรเจกต์

บทนำ

เอกสารไวท์เปเปอร์จะสรุปข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโปรเจกต์บล็อกเชนหรือคริปโทเคอร์เรนซีให้เป็นเอกสารฉบับเดียว ซึ่งเป็นวิธียอดนิยมในการอธิบายว่าโปรเจกต์มีแนวทางอย่างไร และตั้งเป้าหมายแก้ปัญหาอะไร

เอกสารไวท์เปเปอร์คืออะไร

โดยทั่วไปแล้ว เอกสารไวท์เปเปอร์คือรายงานหรือคำแนะนำที่แจ้งให้ผู้อ่านทราบเกี่ยวกับหัวข้อหรือประเด็นหนึ่งๆ ยกตัวอย่างเช่น นักพัฒนาอาจจัดทำเอกสารไวท์เปเปอร์เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ใช้ว่าคืออะไรและเพื่ออะไร

ในแวดวงบล็อกเชน เอกสารไวท์เปเปอร์คือเอกสารที่สรุปคุณสมบัติหลักและข้อกำหนดทางเทคนิคของโปรเจกต์คริปโทเคอร์เรนซีหรือบล็อกเชนโดยเฉพาะ แม้ว่าเอกสารไวท์เปเปอร์จำนวนมากจะเน้นที่เหรียญหรือโทเค็น แต่ก็อาจมีเนื้อหาเกี่ยวกับโปรเจกต์ประเภทต่างๆ ได้ เช่น แพลตฟอร์ม Decentralized Finance (DeFi) หรือเกมแบบ Play-to-Earn

เอกสารไวท์เปเปอร์อาจให้ภาพรวมของข้อมูลที่จำเป็นในรูปแบบของสถิติและแผนภาพ นอกจากนี้ เอกสารไวท์เปเปอร์ยังอาจอธิบายถึงโครงสร้างการกำกับดูแลโปรเจกต์ บุคคลที่เป็นผู้กำกับดูแล และแผนการพัฒนาในปัจจุบันและอนาคต (เช่น แผนการพัฒนา)

อย่างไรก็ตาม ไม่มีวิธีที่เป็นทางการในการจัดทำเอกสารไวท์เปเปอร์ แต่ละโปรเจกต์จะสร้างเอกสารไวท์เปเปอร์ขึ้นให้เข้ากับเงื่อนไขของโปรเจกต์มากที่สุด ตามหลักแล้ว เอกสารไวท์เปเปอร์ควรมีความเป็นกลางและให้ความรู้เพื่ออธิบายถึงตัวโปรเจกต์และเป้าหมายได้อย่างชัดเจน ผู้ใช้ควรระมัดระวังเอกสารไวท์เปเปอร์ที่ใช้ภาษาโน้มน้าวใจและโปรเจกต์ที่ให้คำมั่นสัญญามากเกินไปโดยไม่ได้ให้ข้อมูลที่เพียงพอ

ผู้คนมักมองว่าเอกสารไวท์เปเปอร์ของคริปโทเคอร์เรนซีเป็นแผนธุรกิจของโปรเจกต์คริปโต เป็นเพราะตัวเอกสารจะให้ภาพรวมของโปรเจกต์ในหลายแง่มุมแก่นักลงทุน แต่เอกสารไวท์เปเปอร์ไม่เหมือนกับแผนธุรกิจ เพราะมักจะปล่อยออกมาก่อนเปิดตัวคริปโทเคอร์เรนซี ดังนั้น เอกสารไวท์เปเปอร์จึงมักเป็นจุดเริ่มต้นที่กำหนดทิศทางของโปรเจกต์คริปโตและเจตนารมณ์ของไอเดีย

เราจะพบข้อมูลอะไรบ้างในเอกสารไวท์เปเปอร์

ผู้ก่อตั้งจะจัดทำเอกสารไวท์เปเปอร์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายของโปรเจกต์ ยกตัวอย่างเช่น เอกสารไวท์เปเปอร์ของ Bitcoin ระบุว่า "เงินอิเล็กทรอนิกส์แบบ Peer-to-Peer (P2P) อย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้การชำระเงินออนไลน์สามารถส่งจากฝ่ายหนึ่งถึงอีกฝ่ายหนึ่งได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงิน" ในขณะที่เอกสารไวท์เปเปอร์ ของ Ethereum จะอธิบายเป้าหมายในลักษณะที่ว่า: "จุดประสงค์ของ Ethereum คือการสร้างโปรโตคอลทางเลือกสำหรับการสร้าง Decentralized Application (แอปพลิเคชันกระจายศูนย์)"

เอกสารไวท์เปเปอร์มักจะให้แนวคิดเกี่ยวกับประโยชน์ในโลกแห่งความเป็นจริงของโปรเจกต์คริปโต ตัวอย่างเช่น ตัวเอกสารอาจอธิบายว่าจะแก้ไขปัญหาบางอย่างได้อย่างไร หรือจะทำให้บางส่วนในชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม คุณจะต้องระวังเมื่อมีการให้คำสัญญา การจัดทำเอกสารไวท์เปเปอร์ไม่ใช่เรื่องยาก ตัวอย่างเช่น Initial Coin Offering (การเสนอขายเหรียญครั้งแรก หรือย่อว่า ICO) ที่มาแรงในปี 2017 ทำให้เกิดโทเค็นนับหลายพันเหรียญที่มีดูมี "นวัตกรรม" แต่โปรเจกต์ส่วนใหญ่ไม่สามารถเปิดตัวได้จริง ตามหลักการทั่วไป อย่าลืมว่าแค่การแนบคริปโทเคอร์เรนซีเข้ากับกรณีการใช้งานก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการยอมรับและนำไปใช้งาน

ดังนั้น นอกเหนือจากเป้าหมายและคำสัญญาแล้ว เอกสารไวท์เปเปอร์ยังอาจแสดงให้เห็นว่าคริปโทเคอร์เรนซีนั้นจะใช้งานจริงได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ควรอธิบายได้ว่าจะใช้กลไก Consensus แบบใดที่ใช้เพื่อให้ผู้เข้าร่วม Network สามารถร่วมงานกันในลักษณะกระจายศูนย์

เอกสารไวท์เปเปอร์ยังอาจให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับองค์ประกอบของ Tokenomics เช่น การเผาโทเค็น การจัดสรรโทเค็น และกลไกรางวัลจูงใจ สุดท้าย เอกสารไวท์เปเปอร์อาจมีแผนการพัฒนาที่แจ้งให้ผู้ใช้ทราบถึงกำหนดการต่างๆ ของโปรเจกต์เพื่อให้ผู้ใช้ทราบว่าจะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เมื่อใดบ้าง

เอกสารไวท์เปเปอร์มักได้รับการออกแบบอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้ทุกคนสามารถอ่านและรับทราบแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับโปรเจกต์คริปโทเคอร์เรนซีหรือบล็อกเชน อย่างไรก็ตาม เอกสารไวท์เปเปอร์ที่ดีจะให้คำอธิบายทางเทคนิคเพื่อยืนยันความสามารถของโปรเจกต์ด้วย

ทำไมเอกสารไวท์เปเปอร์จึงสำคัญ

เอกสารไวท์เปเปอร์มีความสำคัญต่อระบบนิเวศคริปโต แม้ว่าจะไม่มีมาตรฐานสำหรับการจัดทำ แต่เอกสารไวท์เปเปอร์ก็กลายเป็นกรอบการทำงานสำหรับการค้นหาข้อมูลโปรเจกต์คริปโต

การอ่านเอกสารไวท์เปเปอร์ของโปรเจกต์ถือเป็นคำแนะนำพื้นฐานสำหรับการเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับคริปโต ผู้ใช้สามารถใช้เอกสารไวท์เปเปอร์เพื่อสังเกตโปรเจกต์ที่มีสัญญาณอันตรายหรือน่าจะมีศักยภาพ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้ใช้ติดตามตรวจสอบได้ว่าโปรเจกต์เป็นไปตามแผนและเป้าหมายเดิมหรือไม่

เอกสารไวท์เปเปอร์อาจให้ความโปร่งใสและความเสมอภาคโดยการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญของโปรเจ็กต์ต่อสาธารณะ ฝ่ายต่างๆ จะได้ประโยชน์จากเอกสารไวท์เปเปอร์ ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนสามารถตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้นโดยข้อมูลที่มีให้ หรือนักพัฒนาสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเข้าร่วมการพัฒนาในโปรโตคอลนี้หรือไม่ ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่สนใจแนวคิดนี้ก็จะตัดสินใจได้อย่างมั่นใจว่าต้องการเข้าร่วมโปรเจกต์หลังจากที่อ่านแล้วหรือไม่

ตัวอย่างของเอกสารไวท์เปเปอร์

เอกสารไวท์เปเปอร์ Bitcoin

เอกสารไวท์เปเปอร์ Bitcoin เผยแพร่ในปี 2008 โดยบุคคลหรือกลุ่มนิรนามที่รู้จักกันในชื่อ Satoshi Nakamoto เอกสารไวท์เปเปอร์ Bitcoin มีชื่อว่า "Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System"

เอกสารไวท์เปเปอร์จะสรุปว่าผู้คนจะนำ Bitcoin ไปใช้เป็นเงินในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการเงินในรูปแบบการธนาคารแบบดั้งเดิมได้อย่างไร และยังให้คำอธิบายทางเทคนิคว่า Network ของ Bitcoin จะช่วยให้ผู้ใช้ส่งสกุลเงินดิจิทัลบน Network แบบ Peer-to-Peer (P2P) โดยไม่ต้องมีคนกลางได้อย่างไร นอกจากนี้ เอกสารไวท์เปเปอร์ยังอธิบายว่า Network ของ Bitcoin ได้รับการปกป้องจากการเซ็นเซอร์และการโจมตีการจ่ายซ้ำซ้อนได้อย่างไร

เอกสารไวท์เปเปอร์ Ethereum

โปรแกรมเมอร์หนุ่มชื่อ Vitalik Buterin เผยแพร่เอกสารไวท์เปเปอร์ของ Ethereum ในปี 2014 แต่ก่อนหน้านี้ Vitalik ได้เสนอแนวคิดไวท์เปเปอร์ในปี 2013 ในบล็อกโพสต์ "Ethereum: The Ultimate Smart Contract and Decentralized Application Platform" โพสต์นำเสนอแนวคิดของบล็อกเชนแบบ Turing-complete ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์แบบกระจายศูนย์ประเภทหนึ่งที่สามารถเรียกใช้แอปพลิเคชันได้ทุกประเภท หากมีเวลาและทรัพยากรเพียงพอ

เอกสารไวท์เปเปอร์ของ Ethereum อธิบายว่ามีจุดประสงค์แตกต่างจาก Bitcoin อย่างไร ในขณะที่ Bitcoin มีฟังก์ชันเฉพาะในการชำระเงิน Peer-to-Peer (P2P) แบบดิจิทัล เอกสารไวท์เปเปอร์ Ethereum ได้นำเสนอแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างและใช้แอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ (DApp) ได้ทุกประเภท ยกตัวอย่างเช่น อาจเป็นคริปโทเคอร์เรนซีอื่น หรือแพลตฟอร์มการให้กู้ยืมแบบกระจายศูนย์ เอกสารไวท์เปเปอร์ยังอธิบายโซลูชันทางเทคโนโลยีที่ทำให้แนวทางของ Ethereum เป็นไปได้ เช่น Smart Contract และ Ethereum Virtual Machine

ข้อคิดส่งท้าย

ตามหลักการแล้ว เอกสารไวท์เปเปอร์ควรช่วยให้คุณมีความเข้าใจว่าโปรเจกต์คริปโทเคอร์เรนซีมีแผนจะทำอะไรและอย่างไร อย่างไรก็ตาม เอกสารไวท์เปเปอร์ไม่มีการกำกับดูแล และใครๆ ก็สามารถเขียนไวท์เปเปอร์ขึ้นมาได้ ดังนั้น หากคุณสนใจโปรเจกต์ใด คุณจำเป็นจะต้องวิเคราะห์เอกสารไวท์เปเปอร์ของโปรเจกต์นั้นอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงสัญญาณอันตรายและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น