การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis - FA) คืออะไร

2024-02-01

บทนำ

เมื่อพูดถึงการเทรดแล้ว ไม่ว่าคุณจะเทรดหุ้นอายุนับร้อยปีหรือคริปโทเคอร์เรนซีที่เพิ่งเกิดใหม่ ก็ไม่มีสูตรสำเร็จที่แน่นอน หรือถ้ามี นักเทรดชั้นนำของ Wall Street ก็ไม่มีทางปล่อยให้ใครรู้สูตรลับสุดยอดอย่างแน่นอน

แต่สิ่งที่เรามีก็คือเครื่องมือและวิธีการมากมายที่นักเทรดและนักลงทุนทุกคนใช้ โดยส่วนใหญ่แล้ว คุณสามารถแบ่งเทคนิคเหล่านี้ออกเป็นสองประเภทได้แก่ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (FA) และการวิเคราะห์ทางเทคนิค (TA)

ในบทความนี้ เราจะมาดูรายละเอียดของข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานกัน

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานคืออะไร

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) เป็นวิธีที่นักลงทุนและนักเทรดใช้เพื่อพยายามหามูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์หรือธุรกิจ โดยการศึกษาปัจจัยภายในและภายนอกอย่างถี่ถ้วนเพื่อพิจารณาว่าสินทรัพย์หรือธุรกิจที่วิเคราะห์อยู่นั้นมีมูลค่าสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป และเพื่อให้ได้มูลค่าที่ถูกต้องแม่นยำ จากนั้นก็จะนำข้อสรุปที่ได้มาประกอบการวางกลยุทธ์ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณสนใจบริษัทใด คุณอาจศึกษาข้อมูลต่างๆ เช่น รายได้ของบริษัท งบดุล งบการเงิน และกระแสเงินสดของบริษัทเป็นอันดับแรก เพื่อให้เข้าใจถึงสถานะทางการเงินของบริษัท จากนั้น คุณอาจมองภาพรวมขององค์กรเพื่อศึกษาตลาดหรืออุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการอยู่ เช่น ใครเป็นคู่แข่งของบริษัท กลุ่มประชากรใดคือเป้าหมายของบริษัท บริษัทกำลังขยายกิจการอยู่หรือไม่ คุณยังอาจมองภาพรวมให้กว้างขึ้นไปอีกเพื่อพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยและ อัตราเงินเฟ้อเป็นต้น

เราเรียกแบบที่กล่าวมานี้ว่า แนวทางจาก ล่างขึ้นบน นั่นคือ เริ่มที่บริษัทที่คุณสนใจก่อน แล้วพยายามทำความเข้าใจสถานะของบริษัทในระบบเศรษฐกิจในวงกว้างไปเรื่อยๆ แต่คุณสามารถใช้วิธีการแบบ บนลงล่างก็ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นการจำกัดตัวเลือกให้แคบลง โดยพิจารณาจากภาพรวมที่ใหญ่กว่าเป็นอันดับแรก

เป้าหมายสุดท้ายของการวิเคราะห์ประเภทนี้คือการคาดการณ์ราคาหุ้น แล้วนำไปเปรียบเทียบกับราคาปัจจุบัน หากตัวเลขนั้นสูงกว่าราคาปัจจุบัน คุณอาจสรุปได้ว่าราคานั้นมีมูลค่าต่ำเกินไป หากราคาต่ำกว่าราคาตลาด คุณก็อาจสรุปได้ว่าราคาปัจจุบันมีมูลค่าสูงเกินไป เมื่อสรุปข้อมูลจากการวิเคราะห์แล้ว คุณก็สามารถตัดสินใจจากข้อมูลนั้นได้ว่าจะซื้อหรือขายหุ้นของบริษัทนั้นๆ หรือไม่

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis - FA) เทียบกับ การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis - TA)

นักเทรดและนักลงทุนที่เพิ่งเริ่มเทรดในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี , ตลาด Forex หรือตลาดหุ้นมักจะสับสนว่าควรใช้แนวทางแบบใด การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและการวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้นมีลักษณะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของวิธีการวิเคราะห์และปัจจัยที่นำมาพิจารณา อย่างไรก็ดี ทั้งสองวิธีการนี้ต่างก็ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเทรด แล้ววิธีไหนดีที่สุด

ความจริงแล้ว การตั้งคำถามว่าแต่ละวิธีมีข้อดีอย่างไรอาจจะเหมาะสมกว่า โดยพื้นฐานแล้ว นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเชื่อว่าราคาหุ้นไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกถึงมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเสมอไป ซึ่งเป็นแนวคิดอันเป็นรากฐานที่สนับสนุนการตัดสินใจในการลงทุน 

ในทางกลับกัน นักวิเคราะห์ทางเทคนิคเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาในอนาคตสามารถคาดการณ์ได้จาก Price Action (พฤติกรรมราคา) และข้อมูลปริมาณในอดีต โดยจะไม่ใส่ใจกับการศึกษาปัจจัยภายนอก แต่จะเน้นการอ่านกราฟราคา รูปแบบ และแนวโน้มในตลาดแทน โดยมีเป้าหมายที่จะระบุจุดที่เหมาะสมสำหรับการเข้าและออก Position

ผู้สนับสนุนแนวคิด Efficient Market Hypothesis (EMH) เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเอาชนะตลาดอย่างต่อเนื่องด้วย การวิเคราะห์ทางเทคนิค (TA) ทฤษฎีนี้ชี้ให้เห็นว่า ตลาดการเงินจะสะท้อนข้อมูลที่แท้จริงทั้งหมดเกี่ยวกับสินทรัพย์ (ข้อมูลนั้นมีความ "เป็นเหตุเป็นผล") และได้คำนึงถึงข้อมูลในอดีตแล้ว EMH ในเวอร์ชันที่ "อ่อนกว่า" ไม่ได้ต่อต้านการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่รูปแบบที่ "แข็งกว่า" โต้ว่า แม้จะทำการวิจัยอย่างละเอียดแล้วก็ตาม ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

เป็นที่เข้าใจได้ว่าตามหลักแล้ว ไม่มีกลยุทธ์ใดที่ดีกว่าไปกว่ากัน เนื่องจากทั้งคู่สามารถนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าในด้านต่างๆ ได้ นักเทรดบางคนอาจเห็นว่าการเทรดบางรูปแบบได้ผลกว่า และในทางปฏิบัติ นักเทรดจำนวนมากใช้ทั้งสองวิธีร่วมกันเพื่อสังเกตการณ์ภาพรวมที่กว้างขึ้น ซึ่งวิธีนี้ก็ได้ผลกับทั้งการเทรดระยะสั้นและการลงทุนระยะยาว

ตัวชี้วัดยอดนิยมในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

ในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานนั้น เราไม่ได้ดูข้อมูลเชิงลึกจากกราฟแท่งเทียน, MACD หรือ RSI แต่เราจะใช้ตัวชี้วัดเฉพาะสำหรับ FA จำนวนหนึ่งแทน ในส่วนนี้ เราจะพูดถึงตัวชี้วัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

กำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share หรือ EPS)

กำไรต่อหุ้น (Earnings per share) เป็นตัวชี้วัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ซึ่งจะบ่งบอกว่าบริษัทมีกำไรต่อหุ้นที่อยู่ในมือผู้ถือหุ้น (Outstanding Share) มากน้อยเพียงใด โดยจะมีการคำนวณตามสูตรต่อไปนี้

(รายได้สุทธิ - เงินปันผลบุริมสิทธิ) / จำนวนหุ้น

สมมติว่าบริษัทไม่จ่ายเงินปันผล และกำไรของบริษัทคือ $1 ล้าน หากมีการออกหุ้น 200,000 หุ้น สูตรนี้จะคำนวณได้ EPS ที่ $5 การคำนวณนี้ไม่มีความซับซ้อนเท่าใดนัก แต่ก็สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการลงทุนที่เป็นไปได้ได้ในระดับหนึ่ง ธุรกิจที่มี EPS สูงกว่า (หรือเพิ่มขึ้น) มักจะดึงดูดนักลงทุนมากกว่า

นักลงทุนบางคนชอบใช้กำไรต่อหุ้นปรับลด (Diluted Earnings per Share) เนื่องจากจะมีปัจจัยต่างๆ ที่ต้องคำนึงถึงซึ่งอาจเพิ่มจำนวนหุ้นทั้งหมดด้วย ยกตัวอย่างเช่นในกรณี Options ของหุ้น พนักงานจะสามารถเลือกซื้อหุ้นของบริษัทได้ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว วิธีนี้จะทำให้หุ้นที่จะนำมาหารรายได้สุทธิมีจำนวนมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่มูลค่าของ Diluted EPS จะต่ำกว่า EPS แบบธรรมดา

เช่นเดียวกับตัวชี้วัดทั้งหมด กำไรต่อหุ้นไม่ควรเป็นตัวชี้วัดเดียวที่ใช้ในการประเมินมูลค่าการลงทุนในอนาคต แต่ก็ยังเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์เมื่อนำไปใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ

อัตราส่วนราคาต่อกำไร (Price to Earnings (P/E) Ratio)

อัตราส่วนราคาต่อกำไร (Price to Earnings Ratio หรือเรียกง่ายๆ ว่าอัตราส่วน P/E) จะประเมินค่าธุรกิจโดยการเปรียบเทียบราคาหุ้นกับ EPS ซึ่งจะคำนวณโดยใช้สูตรต่อไปนี้

ราคาหุ้น / กำไรต่อหุ้น

เราจะใช้บริษัทเดิมจากตัวอย่างที่แล้ว ซึ่งมี EPS อยู่ที่ $5 สมมติว่าแต่ละหุ้นซื้อขายที่ $10 นั่นทำให้เรามีอัตราส่วน P/E เท่ากับ 2 ทั้งนี้ ความหมายของผลคำนวณดังกล่าวส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับผลค้นคว้าข้อมูลปัจจัยอื่นๆ ด้วย 

นักลงทุนจำนวนมากใช้อัตราส่วนราคาต่อกำไรเพื่อดูว่ามีการตีมูลค่าหุ้นสูงเกินไป (หากอัตราส่วนสูงกว่า) หรือต่ำเกินไป (หากอัตราส่วนต่ำกว่า) หรือไม่ การนำตัวเลขมาพิจารณาโดยเปรียบเทียบกับอัตราส่วน P/E ของธุรกิจที่คล้ายคลึงกันก็เป็นความคิดที่ดี แต่อย่างที่กล่าวไป กฎนี้อาจไม่ได้ผลทุกครั้ง ดังนั้นจึงควรใช้ควบคู่ไปกับเทคนิคการวิเคราะห์เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพอื่นๆ ด้วย

อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (Price to Book (P/B) Ratio)

อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (Price to Book Ratio หรือที่เรียกว่า Price to Equity Ratio หรืออัตราส่วน P/B) สามารถบอกเราได้ว่านักลงทุนตีมูลค่าของบริษัทอย่างไรเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชี มูลค่าทางบัญชี คือมูลค่าของธุรกิจตามที่ระบุไว้ในรายงานทางการเงินของบริษัท (โดยทั่วไปคือสินทรัพย์ลบหนี้สิน) การคำนวณมีลักษณะดังนี้

ราคาต่อหุ้น / มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น

ครั้งนี้เราก็จะใช้บริษัทจากตัวอย่างก่อนหน้านี้กัน สมมติว่าบริษัทนี้มีมูลค่าทางบัญชี $500,000 แต่ละหุ้นมีการซื้อขายที่ $10 และมีอยู่ 200,000 หุ้น ดังนั้น เราจะคำนวณมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นได้โดยการหาร $500,000 กับ 200,000 ซึ่งเท่ากับ $2.5 

เมื่อนำตัวเลขมาใส่ในสูตรแล้ว $10 หารด้วย $2.5 จะได้ผลลัพธ์เป็นอัตราส่วน P/B ที่ 4 ซึ่งดูเผินๆ แล้วตัวเลขนี้ไม่ค่อยดีนัก เพราะสิ่งนี้บอกเราว่าปัจจุบันหุ้นกำลังซื้อขายกันในราคา 4 เท่าของมูลค่าทางบัญชีจริงของบริษัท ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าตลาดกำลังประเมินมูลค่าธุรกิจสูงเกินไป เหตุผลอาจเป็นเพราะตลาดคาดว่าบริษัทจะมีการเติบโตอย่างมาก ถ้าเราคำนวณได้อัตราส่วนน้อยกว่า 1 แสดงว่าธุรกิจมีมูลค่ามากกว่าที่ตลาดรับรู้ในปัจจุบัน

ข้อจำกัดของอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีคือ อัตรานี้จะเหมาะกว่าสำหรับกับการประเมินธุรกิจที่ "มีสินทรัพย์มาก" ท้ายที่สุดแล้ว บริษัทที่มีสินทรัพย์ทางกายภาพเพียงเล็กน้อยมักไม่แสดงอัตราส่วนนี้ไว้

อัตราส่วนราคา/กำไรต่อการเติบโต (Price/Earnings to Growth (PEG) ratio)

อัตราส่วนราคา/กำไรต่อการเติบโต (Price/Earnings to Growth Ratio หรือ PEG) เป็นส่วนขยายของอัตราส่วน P/E โดยจะนำอัตราการเติบโตมาพิจารณาเพิ่มเติมด้วย ซึ่งจะใช้สูตรต่อไปนี้

อัตราส่วนราคาต่อกำไร / อัตราส่วนการเติบโตของกำไร

อัตราการเติบโตของกำไรเป็นค่าประมาณการเติบโตของกำไรที่คาดการณ์ไว้สำหรับบริษัทในกรอบเวลาที่กำหนด โดยเราจะแสดงเป็นเปอร์เซ็นต์ สมมติว่าเราประมาณการเติบโตเฉลี่ยของบริษัทที่เราพูดถึงไปก่อนหน้านี้ไว้ที่ 10% ในอีก 5 ปีข้างหน้า เราก็จะเอาอัตราส่วนราคาต่อกำไร (2) มาหารด้วย 10 ก็จะได้อัตราส่วน 0.2

อัตราส่วนดังกล่าวบ่งชี้ว่าบริษัทเป็นการลงทุนที่ดีเนื่องจากบริษัทมีการประเมินค่าต่ำเกินไปเป็นอย่างมากเมื่อเราคำนึงถึงการเติบโตในอนาคต ธุรกิจใดๆ ที่มีอัตราส่วนน้อยกว่า 1 โดยทั่วไปแล้วก็จะถือว่ามีการประเมินค่าต่ำเกินไป ค่าที่มากกว่านี้อาจเป็นประเมินที่สูงเกินไปได้

นักลงทุนจำนวนมากนิยมใช้อัตราส่วน PEG มากกว่า P/E เนื่องจากอัตราส่วน PEG จะพิจารณาตัวแปรที่ค่อนข้างสำคัญซึ่ง P/E จะไม่พิจารณา

➟ หากคุณกำลังเริ่มต้นเทรดคริปโทเคอร์เรนซี ซื้อ Bitcoin ที่ Binance TH สิ!

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและคริปโทเคอร์เรนซี

ตัวชี้วัดที่กล่าวมานี้ไม่สามารถใช้งานได้จริงกับคริปโทเคอร์เรนซี แต่คุณอาจต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ เพื่อประเมินความสำเร็จของโปรเจกต์แทน ในส่วนต่อไปนี้ เราจะแสดงตัวบ่งชี้จำนวนหนึ่งที่นักเทรดคริปโทเคอร์เรนซีใช้กัน

อัตราส่วนมูลค่าต่อธุรกรรมของ Network (Network Value to Transactions (NVT) Ratio)

อัตราส่วน NVT มักถูกมองว่าเป็นอัตราส่วน P/E ของตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับ FA ของคริปโทเคอร์เรนซีที่นิยมใช้ ซึ่งสามารถคำนวณได้ดังนี้

มูลค่า Network / ปริมาณธุรกรรมรายวัน

NVT จะพยายามตีค่าของ Network นั้นตามมูลค่าของธุรกรรมที่ดำเนินการ สมมติว่าคุณมีสองโปรเจกต์ ได้แก่ เหรียญ A และ เหรียญ B ซึ่งทั้งสองเหรียญมีมูลค่าตามราคาตลาดที่ $1,000,000 อย่างไรก็ตาม เหรียญ A มีปริมาณธุรกรรมรายวันมูลค่า $50,000 ในขณะที่เหรียญ B มีมูลค่า $10,000

อัตราส่วน NVT สำหรับเหรียญ A คือ 20 และ NVT สำหรับเหรียญ B คือ 100 โดยทั่วไปแล้ว สินทรัพย์ที่มีอัตราส่วน NVT ต่ำกว่าจะถือว่ามีมูลค่าต่ำเกินไป ในขณะที่สินทรัพย์ที่มีอัตราส่วนสูงกว่าอาจถือว่ามีมูลค่าสูงเกินไป ผลการคำนวณเหล่านี้บ่งบอกได้ว่าเหรียญ A ถูกประเมินต่ำเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับเหรียญ B

ที่อยู่ที่มีความเคลื่อนไหว (Active Address)

นักเทรดบางคนจะดูจำนวนที่อยู่ที่มีการเคลื่อนไหว (Active Address) บน Network เพื่อวัดว่ามีการใช้งานมากน้อยเพียงใด แม้ว่าตัวบ่งชี้นี้จะไม่น่าเชื่อถือเมื่อพิจารณาปัจจัยนี้เพียงอย่างเดียว (เนื่องจากตัวชี้วัดนี้อาจถูกบิดเบือนได้) แต่ก็แสดงข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมภายใน Network ได้ คุณอาจนำปัจจัยนี้มาพิจารณาร่วมกับการประเมินมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำหนดได้

อัตราส่วนราคาต่อจุดคุ้มทุน Mining (Price to Mining Breakeven Ratio)

อัตราส่วนราคาต่อจุดคุ้มทุน Mining เป็นเกณฑ์ประเมินมูลค่าเหรียญ Proof of Work ที่ผู้เข้าร่วม Network ทำการขุด โดยจะพิจารณาต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ กล่าวคือ ค่าไฟฟ้าและค่าฮาร์ดแวร์

Market Price ของเหรียญ / ต้นทุนในการขุดเหรียญ

อัตราส่วนราคาต่อจุดคุ้มทุน Mining อาจให้ข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของ Network บล็อกเชน จุดคุ้มทุน (Breakeven) หมายถึงต้นทุนในการ Mine เหรียญ ยกตัวอย่างเช่น หากเหรียญมีมูลค่า $10,000 หมายความว่า โดยปกติแล้ว Miner จะใช้เงิน $10,000 ในการสร้างหน่วยใหม่

สมมติว่า เหรียญ A เทรดที่ $5,000 และเหรียญ B เทรดที่ $20,000 และทั้งคู่มีจุดคุ้มทุนที่ $10,000 อัตราส่วนของเหรียญ A จะอยู่ที่ 0.5 ในขณะที่เหรียญ B จะอยู่ที่ 2 อัตราส่วนของเหรียญ A ต่ำกว่า 1 บอกให้เราทราบว่า Miner ขาดทุนเมื่อทำการขุดเหรียญ การ Mine เหรียญ B ให้ผลกำไรเนื่องจากคุณคาดการณ์ว่าทุกๆ $10,000 ที่ใช้ในการขุดจะสร้างผลตอบแทนได้ $20,000

เนื่องจากผลตอบแทนที่จะได้รับ คุณอาจคาดการณ์ว่าอัตราส่วนนี้จะมีแนวโน้มเป็น 1 เมื่อเวลาผ่านไป สำหรับเหรียญ A ผู้ที่กำลังขาดทุนจากการขุดมีแนวโน้มที่จะออกจาก Network เว้นแต่ราคาจะเพิ่มขึ้น เหรียญ B มี Reward ที่น่าดึงดูด ดังนั้นคุณจึงคาดว่าจะมี Miner จำนวนมากขึ้นเข้ามาร่วมจนกว่าการขุดจะไม่สร้างผลกำไรอีกต่อไป

ประสิทธิภาพของตัวบ่งชี้นี้ยังไม่เด่นชัด แต่คุณก็จะเห็นภาพรวมของสภาพเศรษฐกิจในการขุดซึ่งคุณสามารถนำไปใช้ประกอบการประเมินสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวมได้

เอกสารไวท์เปเปอร์ ทีม และแผนพัฒนา

วิธีการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการระบุมูลค่าของคริปโทเคอร์เรนซีและโทเค็นคือวิธีการแสนธรรมดาอย่างการหาข้อมูลเกี่ยวกับโปรเจกต์  การอ่านเอกสารไวท์เปเปอร์จะช่วยให้คุณเข้าใจเป้าหมายของโปรเจกต์ กรณีใช้งาน และเทคโนโลยีได้ บันทึกเกี่ยวกับสมาชิกในทีมจะช่วยให้คุณทราบความสามารถในการสร้างและปรับขนาดผลิตภัณฑ์ และสุดท้าย แผนพัฒนาจะบอกคุณว่าโปรเจกต์ดำเนินไปตามเป้าหมายหรือไม่ นอกจากนั้น คุณยังอาจค้นหาข้อมูลเสริมจากแหล่งอื่นๆ ประกอบเพื่อประเมินแนวโน้มว่าโปรเจกต์จะบรรลุเป้าหมายความสำเร็จหรือไม่

ข้อดีและข้อเสียของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

ข้อดีของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการประเมินธุรกิจในลักษณะที่การวิเคราะห์ทางเทคนิคไม่สามารถทำได้เทียบเท่า  สำหรับนักลงทุนทั่วโลก การศึกษาปัจจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการเทรด

ทุกคนสามารถทำการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานได้ เนื่องจากเราสามารถใช้เทคนิคที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้ว และเข้าถึงข้อมูลทางธุรกิจที่เผยแพร่สู่สาธารณะ หรืออย่างน้อยก็สามารถทำได้ในตลาดดั้งเดิมทั่วไป แน่นอนถ้าเรามองไปที่คริปโทเคอร์เรนซี (ซึ่งยังเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก) ยังมีข้อมูลไม่มากเท่าไร และการที่สินทรัพย์มีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างมากก็หมายความว่า FA อาจเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก

หากทำอย่างถูกต้อง วิธีนี้จะเป็นรากฐานในการระบุตัวหุ้นที่มีการประเมินมูลค่าต่ำเกินไป และมีแนวโน้มที่จะมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักลงทุนชั้นนำอย่าง Warren Buffett และ Benjamin Graham แสดงให้เราเห็นมาโดยตลอดว่าการหาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจต่างๆ ด้วยวิธีการลักษณะนี้อย่างละเอียดจะสร้างผลลัพธ์ได้อย่างมหาศาล

ข้อเสียของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานสามารถทำได้ง่าย แต่การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอย่างละเอียดเป็นเรื่องยาก  การหา "มูลค่าที่แท้จริง" ของหุ้นเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานซึ่งมีขั้นตอนที่มากกว่าแค่การใส่ตัวเลขลงในสูตร คุณต้องประเมินปัจจัยหลายๆ อย่าง อีกทั้งการเรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ เพื่อดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพก็อาจใช้เวลานาน นอกจากนั้น วิธีนี้เหมาะกับการเทรดระยะยาวมากกว่าการเทรดระยะสั้น

การวิเคราะห์ประเภทนี้ยังมองข้ามกลไกและแนวโน้มของตลาดที่ทรงพลัง ซึ่งสามารถระบุได้ด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิค อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ John Maynard Keynes เคยกล่าวไว้ว่า 

ตลาดไร้เหตุผลได้นานกว่าเงินที่อยู่ในกระเป๋าคุณเสียอีก

หุ้นที่ (ทุกตัวชี้วัด) คาดว่าประเมินราคาต่ำเกินไป ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต

ข้อคิดส่งท้าย

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเป็นแนวทางปฏิบัติซึ่งนักเทรดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดบางคนยึดมั่นอย่างเคร่งครัด การขัดเกลากลยุทธ์ไม่เพียงแค่ช่วยให้นักลงทุนเรียนรู้ที่จะประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น คริปโทเคอร์เรนซี และสินทรัพย์อื่นๆ ได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เข้าใจธุรกิจและอุตสาหกรรมโดยรวมได้ดีขึ้นด้วย

เมื่อใช้ร่วมกับ การวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้ว การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจะช่วยให้นักเทรดและนักลงทุนมีความเข้าใจอย่างรอบด้านว่าจะทำกำไรได้จากสินทรัพย์และธุรกิจใดบ้าง การใช้ FA และ TA ร่วมกันนี้เป็นที่วิธีที่คนจำนวนมากทั้งในตลาดทั่วไปและตลาดคริปโทเคอร์เรนซีนิยม

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดคริปโตเป็นตลาดเกิดใหม่ คุณจึงควรเข้าใจว่า FA อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร คุณต้องค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตัวเองเสมอ และควรวางกลยุทธ์บริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพเอาไว้ด้วย