นโยบายการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Policy)

2025-02-21

1. วัตถุประสงค์ 

บริษัทฯ ในฐานะศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตระหนักถึงความคาดหวังของลูกค้าและสำนักงานฯ ในการทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณา ความเหมาะสมของสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะให้บริการแก่ลูกค้า บริษัทฯ จึงกำหนดแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล ขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อรับผิดชอบการกำหนดกรอบและการดำเนินงาน และกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้สามารถคัดกรองสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเหมาะสมสำหรับให้บริการแก่ลูกค้าได้ ซึ่งจะเป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้ เพื่อให้บริษัทมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงมาตรการและระยะเวลาในการจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้       ไม่จำกัดเพียงการดำเนินการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ การแจ้งลูกค้าให้รับทราบและระยะเวลาที่ลูกค้าจะจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลของตนได้อย่างเหมาะสม

2. หน่วยงานที่รับผิดชอบในกระบวนคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการ

1. ทีมวิเคราะห์ (Research Team) 

หน้าที่และความรับผิดชอบ

  1. เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการรวบรวม ประเมิน คัดกรอง ทบทวน ติดตามข้อมูลข่าวสาร สภาพการซื้อขาย ความสามารถและคุณสมบัติของสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ที่ประสงค์จะคัดเลือกเพื่อนำมาให้บริการ หรือจะเพิกถอนจากการให้บริการบนระบบศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท ทั้งนี้ ทีมวิเคราะห์ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในการคัดเลือกหรือเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลใดๆ 

  2. วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และจัดทำ Listing Memo สำหรับการพิจารณาคัดเลือกโดยคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล

  3. ดำเนินการคัดกรองสินทรัพย์ดิจิทัลก่อนนำเสนอสู่การพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลตามหลักเกณฑ์ประเมินและคัดกรองเบื้องต้น

  4. ทบทวนคุณสมบัติของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการ และ

  5. ดำเนินการหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท 

โครงสร้าง – ทีมวิเคราะห์ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ทีมวิเคราะห์และมีหัวหน้าทีมวิเคราะห์เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดของหน่วยงาน โดยรายงานตรงกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

2. คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล 

หน้าที่และความรับผิดชอบ – บริษัทฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้น โดยมีอำนาจหน้าที่หลักในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายสำหรับการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าบนระบบศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ และการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลออกจากระบบศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท

องค์ประกอบ – คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลประกอบไปด้วยสมาชิก 5 คน ได้แก่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ, ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ, ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด โดยมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล

การประชุม – บริษัทฯ กำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลต้องประชุมกันอย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง โดยการประชุมแต่ละครั้งต้องมีกรรมการเข้าร่วมครบทุกท่าน และการให้คะแนนตัดสินใจเพื่อคัดเลือกหรือเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องได้รับเสียงเห็นชอบโดยเอกฉันท์จากกรรมการทุกท่าน ทั้งนี้ หากจำเป็นหรือมีเหตุเร่งด่วนที่ไม่สามารถรอการประชุมรายไตรมาสได้ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถเรียกประชุมคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นได้ โดยแจ้งให้กรรมการทุกคนทราบ

3. กระบวนการอนุมัติหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการ

เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทฯ สามารถคัดกรองสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเหมาะสมสำหรับการให้บริการแก่ลูกค้าได้ บริษัทฯ จึงจัดให้มีหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการ (Listing Rules) ขึ้นตามรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไปในเอกสารส่วนนี้ ทั้งนี้ กระบวนการอนุมัติหลักเกณฑ์ดังกล่าวคือบริษัทฯ จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทก่อนที่จะขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อประกาศใช้ต่อไป

4. การได้มาหรือช่องทางของการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาพิจารณา

สินทรัพย์ดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่จะมีการนำมาคัดเลือกและนำมาให้บริการซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ มีแหล่งที่มาจาก 2 ช่องทางหลัก ดังนี้

(1) ผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัล – ได้แก่ การที่ผู้ออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นผู้สมัครและนำเสนอสินทรัพย์ดิจิทัลมายังบริษัทฯ (ทีมวิเคราะห์) ซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการ ดังนี้

  • ช่องทางการติดต่อ ผู้ออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถสมัครเพื่อขอนำสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ารับการคัดเลือกสำหรับการให้บริการแก่ลูกค้าของบริษัทได้ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯ โดยต้องยื่นเอกสารเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลของตนตามที่บริษัทฯ กำหนด ทั้งนี้ การสมัครและยื่นเอกสารสามารถทำผ่านช่องทางบนเว็บไซต์ของบริษัทได้เพียงช่องทางเดียว เพื่อให้ข้อมูลและเอกสารทั้งหมดจะถูกส่งตรงไปยังหน่วยงานรับผิดชอบในการคัดเลือก ได้แก่ ทีมวิเคราะห์ (Research Team) สำหรับการดำเนินการต่อไปเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งจะเป็นการป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์ของบุคลากรอื่นที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง 

  • เอกสารที่ต้องนำส่งเพื่อการสมัคร 

(ก) ผู้ออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องกรอกข้อมูลเบื้องต้นตามรูปแบบที่บริษัทฯ กำหนด ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล, ประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล, ลักษณะสำคัญของสินทรัพย์ดิจิทัล, รายละเอียด MVP กรณีโทเคนดิจิทัล เพื่อให้ข้อมูลที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น สำหรับให้ทีมวิเคราะห์จัดทำ Listing Memo เพื่อการพิจารณาในลำดับต่อไป และ

(ข) White paper และเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ออกและเสนอขายตามที่บริษัทฯ กำหนด เพื่อให้ทีมวิเคราะห์ใช้เป็นเอกสารและหลักฐานประกอบการจัดทำ Listing Memo และการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล

(2) ทีมวิเคราะห์ – เป็นผู้ทำหน้าที่วิเคราะห์และคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ที่จะมีคุณสมบัติเพียงพอในการให้บริการบนระบบศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ ด้วยการศึกษาด้วยตนเองผ่านข้อมูลสื่อ สาธารณะต่างๆ เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลพิจารณาต่อไป

เอกสารหรือแหล่งข้อมูลที่ต้องใช้ ทีมวิเคราะห์ต้องรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ (ก) เอกสารทางการที่จัดทำขึ้นโดยผู้พัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง หรือ (ข) กรณีโทเคนดิจิทัลที่ออกและเสนอขายในประเทศไทย ต้องเป็นเอกสารที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และเผยแพร่โดยผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ (ค) หากเป็นกรณีอื่น ทีมวิเคราะห์อาจหาข้อมูลจากสื่อสาธารณะอื่นที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับสภาพการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวที่เป็นข้อมูลสำรองเพิ่มเติมได้

5. หลักเกณฑ์การประเมินและคัดกรองเบื้องต้น

เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทฯ จะมีกระบวนการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดีและเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯกำหนดให้ทีมวิเคราะห์ดำเนินการประเมินและคัดกรองเบื้องต้นสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่สมัครโดยผู้ออกและเสนอขายหรือเลือกโดยเจ้าหน้าที่ทีมวิเคราะห์ สำหรับนำมาให้บริการบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1.1 การตรวจสอบคุณสมบัติของสินทรัพย์ดิจิทัลกับประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลต้องห้ามซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตามที่ประกาศในข้อ 11/2, 39/1  และภาคผนวก 3 ของประกาศ กธ. 19/2561 ดังต่อไปนี้

เกณฑ์การประเมิน (โดยประเมินตามหัวข้อที่เกี่ยวข้องขึ้นอยู่กับประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล) 

(1)

ต้องไม่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(2)

ต้องไม่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการปกปิดข้อมูลการทำธุรกรรม (privacy coin) ซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ 

(ก) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นโดยปกปิดข้อมูลผู้โอน ผู้รับโอน และปริมาณการโอน


ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน



(ข) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นโดยกำหนดสิทธิให้กับผู้ถือสามารถควบคุมการปกปิดข้อมูลผู้โอน ผู้รับโอน หรือปริมาณการโอนได้

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(ค) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะอื่นใดตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนดในอนาคต

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(3)

ต้องไม่เป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์พร้อมใช้ หรือคริปโทเคอร์เรนซีที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) ไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจนหรือไม่มีสิ่งใดรองรับโดยมีราคาขึ้นอยู่กับกระแสในโลกโซเชียล (Meme Token)

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(ข) เกิดจากกระแสความชื่นชอบส่วนบุคคล (Fan Token)

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(ค) โทเคนดิจิทัลที่ออกโดยบริษัทฯเอง หรือบุคคลซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน ซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องหมายถึง 

(ค.1) กรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมกิจการ 

(ค.2) คู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาของบุคคลตาม (ค.1)

(ค.3) นิติบุคคลซึ่งบุคคลตาม (ค.1) มีอำนาจควบคุมกิจการ ทั้งนี้ ให้นำบทนิยามคำว่า “อำนาจควบคุมกิจการ” ตามมาตรา 39 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มาใช้โดยอนุโลม

(ค.4) บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย หรือบริษัทร่วม ทั้งนี้ ตามลักษณะที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะของกิจการในกลุ่มของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล โดยอนุโลม

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(4)


ต้องไม่เป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ ดังนี้ 

(ก) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ไม่พร้อมใช้ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือเป็นการรับรอง (certificate) หรือแทนเอกสารสิทธิใดๆ 

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(ข) โทเคนดิจิทัลเพื่อใช้ประโยชน์พร้อมใช้ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือเป็นการรับรอง (certificate) หรือแทนเอกสารสิทธิใดๆ

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(ค) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์พร้อมใช้นอกเหนือจาก (ข) และมีลักษณะ ดังนี้

(ค.1) ไม่อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติในหมวด 3 การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(ค.2) เป็นโทเคนดิจิทัลที่ไม่มีข้อกำหนดให้นำไปซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดจิทิล

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(5)

ต้องไม่เป็นโทเคนดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับผลตอบแทนตามที่กำหนดในภาคผนวกโทเคนดิจิทัลที่ใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ การฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับผลตอบแทน และโทเคนดิจิทัลเพื่อการแลกเปลี่ยนประจำโครงการท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะการให้บริการที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล มาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(6) 

หากเป็นกรณีที่รับโทเคนดิจิทัลที่มีการเสนอขายในราคาตํ่ากว่าราคาที่เสนอขายต่อประชาชนมาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องได้มีการจัดทำสัญญาหรือข้อตกลงที่กำหนดระยะเวลาการห้ามขาย (silent period) โทเคนดิจิทัลดังกล่าวเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนนับแต่วันที่มีการส่งมอบโทเคนดิจิทัลให้แก่ผู้ลงทุนในกรณีที่การนำมาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ ยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(7)

ในกรณีที่เป็นโทเคนดิจิทัลที่ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เสนอขายต่อประชาชน หรือคริปโทเคอร์เรนซี ให้พิจารณาข้อกำหนด ดังนี้

(ก) ลักษณะของโทเคนดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(ข) ความชัดเจนของแผนธุรกิจ โครงการ หรือกิจการ

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(ค) สิทธิของผู้ถือโทเคนดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(ง) กลไกลการบังคับใช้สิทธิ สัญญาอัจฉริยะ (smart contract) การเปิดเผยรหัสต้นทาง (source code) หรือเอกสารอื่นซึ่งมีรายละเอียดและสามารถเทียบเคียงได้ในลักษณะเดียวกัน

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(จ) ไวท์เปเปอร์ (white paper) หรือเอกสารอื่นซึ่งมีรายละเอียดและสามารถเทียบเคียงได้ในลักษณะเดียวกัน

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(ฉ) ความน่าเชื่อถือของโทเคนดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีโดยอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

(ช) เหตุอันควรสงสัยว่าอาจเป็นโทเคนดิจิทัลที่หลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

1.2 สำหรับโทเคนดิจิทัล โครงการที่จะได้รับการคัดเลือกมาให้บริการซื้อขายผ่านระบบของบริษัท ต้องมี MVP แล้ว เท่านั้น


(1)

การตรวจสอบ MVP ที่เป็นทรัพย์สินอ้างอิงสำคัญของโครงการการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล ซึ่ง MVP ดังกล่าวหมายถึง 

(ก) หากเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ต้องมีการดำเนินโครงการที่ต้องการระดมทุนจนมีผลิตภัณฑ์ขั้นต่ำที่สามารถใช้งานได้จริงแล้ว หรือหากเป็นโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงกับทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ต้องมีทรัพย์สินดังกล่าวอยู่แล้วในวันที่ต้องการนำมาซื้อขายผ่านระบบของบริษัท 

(ข) หากเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้อรรถประโยชน์ ต้องมี use case ที่ชัดเจนที่ผู้ถือโทเคนดิจิทัลสามารถใช้ประโยชน์ได้แล้ว ในวันที่ต้องการนำโทเคนดิจิทัลดังกล่าวมาซื้อขายผ่านระบบของบริษัท และมีการให้บริการจริงอย่างเป็นทางการสำหรับลูกค้าเป็นการทั่วไปแล้ว

วิธีการประเมิน 

  1. ตรวจสอบโดยพิจารณาว่ามีผลิตภัณฑ์ขั้นต่ำที่สามารถใช้งานได้จริง ตรงตามเอกสารของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ และแนบหลักฐานเพื่อนำเสนอให้หัวหน้าทีมวิเคราะห์ตรวจสอบ

  2. ตรวจสอบโดยพิจารณาว่ามี platform รองรับการใช้ประโยชน์จริง และให้ประสานงานกับผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล ให้ทำการทดสอบจริงเพื่อยืนยัน

ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน

ผลการประเมินและคัดกรองเบื้องต้น เมื่อเจ้าหน้าที่ทีมวิเคราะห์ (ในฐานะ Maker) ดำเนินการประเมินและคัดกรองเบื้องต้นเรียบร้อยแล้วตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ให้เสนอต่อหัวหน้าทีมวิเคราะห์ (ในฐานะ Checker) เป็นผู้ให้ความเห็นชอบต่อการประเมินและคัดกรองเบื้องต้นดังกล่าว 

หากสินทรัพย์ดิจิทัลใดไม่สามารถผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้างต้นได้ทุกข้อที่เกี่ยวข้องตามประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ให้ทีมวิเคราะห์หยุดการพิจารณาสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นไว้ในขั้นตอนนี้ โดยให้จัดทำบันทึกการพิจารณาดังกล่าวเก็บไว้เป็นหลักฐานและรายงานให้คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลทราบในรอบการประชุมครั้งถัดไป แต่หากสินทรัพย์ดิจิทัลใดผ่านเกณฑ์การพิจารณาที่เกี่ยวข้องทุกข้อที่เกี่ยวข้องตามประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ให้ทีมวิเคราะห์นำเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำเอกสารคุณสมบัติการคัดเลือก (Listing Memo) เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลพิจารณาและอนุมัติตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยการให้คะแนนคุณสมบัติต่อไป

6. การจัดทำเอกสารคุณสมบัติการคัดเลือก (Listing Memo)

เพื่อให้มั่นใจว่าการพิจารณาคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท จะดำเนินการภายใต้หลักการและมาตรฐานเดียวกัน ทั้งหมด บริษัทฯ กำหนดให้ทีมวิเคราะห์จัดทำเอกสารคุณสมบัติการคัดเลือก (Listing Memo) จากข้อมูลที่ได้รับจากผู้ออกและเสนอขาย หรือทีมวิเคราะห์เอง ในขั้นตอนการได้มาหรือช่องทางของการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาพิจารณาที่กล่าวไว้ข้างต้น เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยการให้คะแนน (ดังที่จะอธิบายต่อไป) ทั้งนี้ เอกสารคุณสมบัติการคัดเลือก (Listing Memo) ต้องประกอบไปด้วยข้อมูลอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

แบบฟอร์มเอกสารคุณสมบัติการคัดเลือก (Listing Memo)

Listing Memo

1. ชื่อสินทรัพย์ดิจิทัล

2. ประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล (โทเคนดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี)

3. รายละเอียดเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล

  • ที่มาและวัตถุประสงค์ของโครงการ

  • แผนการพัฒนา (Roadmap)

  • ความคืบหน้าในปัจจุบัน

  • แผนการดำเนินการในอนาคต

  • ประวัติและผลการดำเนินการออกและเสนอขายที่ผ่านมา

  • สิทธิที่ผู้ถือสินทรัพย์ดิจิทัลจะได้รับ หรือการใช้ประโยชน์

  • กลไกการบังคับใช้สิทธิ สัญญาอัจฉริยะ (smart contract) การเปิดเผยรหัสต้นทาง (source code) หรือเอกสารอื่นซึ่งมีรายละเอียดและสามารถเทียบเคียงได้ในลักษณะเดียวกัน

4. รายละเอียดเกี่ยวกับทีมผู้พัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัล

  • ข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของผู้ก่อตั้งและทีมผู้พัฒนา รวมถึงที่ปรึกษา (ถ้ามี)

  • ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของบุคคลดังกล่าว ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับแผนธุรกิจของโครงการและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงความสำเร็จหรือประสบการณ์ในการดำเนินการโครงการอื่น

5. รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลเชิงเทคนิคด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

  • เทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนาโครงการ

  • จำนวน blockchain ที่มีการใช้งานหรือรองรับ

6. รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการจัดการด้านการเงิน

  • แผนการระดมเงินทุน

  • แผนการสร้างรายได้

  • แผนการใช้งบประมาณ

  • แผนการให้ผลตอบแทน

7. รายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายและการกำกับดูแล

  • กฎหมายที่ใช้บังคับกับสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว (เช่น กรณีของโทเคนดิจิทัล ประเทศที่ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าว)

  • แนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยง

  • การกำกับดูแลที่ดี

  • การตรวจสอบและรับรอง Smart Contract โดยบุคคลภายนอก

  • ข่าวที่ปรากฎในสื่อสาธารณะในทางลบต่างๆ

8. รายละเอียดเกี่ยวกับ Tokenomics

  • แผนการกระจายสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ทีมผู้พัฒนา (Team Vesting Schedule)

  • จำนวนสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นอุปทานในตลาด (Circulating Supply)

  • ความหลากหลายของการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัล

9. อุปสงค์และสภาพคล่องของตลาด

  • จำนวนผู้ถือสินทรัพย์ดิจิทัล

  • ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของเดือนที่ผ่านมา หรือปริมาณการซื้อขายครั้งแรก กรณีสินทรัพย์ที่เพิ่งออกและเสนอขายครั้งแรก

  • มูลค่าตลาดของสินทรัพย์ดิจิทัล (Market Cap) เฉลี่ยรายวันย้อนหลัง 1 เดือน

  • จำนวนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยอมรับให้มีการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลนี้

10. ความขัดแย้งทางผลประโยชน์

  • รายชื่อผู้มีส่วนได้เสียและเกี่ยวข้องอื่นทั้งหมดในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น

  • การตรวจสอบเบื้องต้นถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจมีระหว่างผู้พัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัล และบริษัทในฐานะศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

7. หลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยการให้คะแนนคุณสมบัติ

บริษัทกำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล มีหน้าที่ในการพิจารณาเพื่อประเมินและคัดกรองสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีข้อบ่งชี้ว่าอาจเป็นการหลอกลวง (scam) ตลอดจนเพื่อคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำมาให้บริการบนระบบศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท ด้วยการให้คะแนนคุณสมบัติของสินทรัพย์ดิจิทัลตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

คุณสมบัติที่พิจารณา

วิธีการให้คะแนน

ส่วนที่ 1 ความชัดเจนของแผนการดำเนินงานโครงการ (15 คะแนน) เพื่อวัตถุประสงค์ในการคัดกรองสินทรัพย์ที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีข้อบ่งชี้ว่าอาจเป็นการหลอกลวง (scam) ในกรณีที่สินทรัพย์ดิจิทัลใดไม่มีข้อมูลดังต่อไปนี้ หรือมีแต่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ชัดเจน ทั้งนี้ เนื่องจากการตรวจสอบในส่วนที่ 1 นี้ เป็นการตรวจสอบจากเอกสารเป็นหลัก จึงทำให้มีสัดส่วนคะแนนเพียง 15% ของคะแนนทั้งหมด

1.1 มีข้อมูลลักษณะของผลิตภัณฑ์หรือโครงการ ที่มีเนื้อหาอย่างน้อยครอบคลุมการอธิบายที่มาและเหตุผลที่ทำให้โครงการมีความน่าสนใจหรือเป็นประโยชน์ในการใช้งานต่อผู้ลงทุน หรือแก้ไขปัญหาใดสำหรับบุคคลทั่วไป (0-3 คะแนน)

0 คะแนน กรณีไม่มีข้อมูล

1.5 คะแนน กรณีมีข้อมูลแต่ไม่ชัดเจนหรือมีบางส่วน

3 คะแนน กรณีมีข้อมูลและชัดเจนครบถ้วน

1.2 มีข้อมูลเชิงเทคนิคด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีเนื้อหาอย่างน้อยครอบคลุมการพัฒนาโครงการ, เทคโนโลยีสำคัญที่ใช้, และจำนวน blockchain ที่มีการใช้งานหรือรองรับ ตลอดจนกลไกการบังคับใช้สิทธิ สัญญาอัจฉริยะ (smart contract) การเปิดเผยรหัสต้นทาง (source code) หรือเอกสารอื่นซึ่งมีรายละเอียดและสามารถเทียบเคียงได้ในลักษณะเดียวกัน (0-3 คะแนน)

0 คะแนน กรณีไม่มีข้อมูลหรือมีข้อมูลแต่ไม่ชัดเจนหรือมีบางส่วน

1.5 คะแนน กรณีมีข้อมูลแต่ไม่ชัดเจนหรือมีบางส่วน

3 คะแนน กรณีมีข้อมูลและชัดเจนครบถ้วน

1.3 มีแผนการจัดการที่เกี่ยวกับด้านการเงินของโครงการ ที่มีเนื้อหาอย่างน้อยครอบคลุมแผนการระดมเงินทุน, แผนการสร้างรายได้, แผนการใช้งบประมาณ และแผนการให้ผลตอบแทน (0-3 คะแนน)

0 คะแนน กรณีไม่มีข้อมูล

1.5 คะแนน กรณีมีข้อมูลแต่ไม่ชัดเจนหรือมีบางส่วน

3 คะแนน กรณีมีข้อมูลและชัดเจนครบถ้วน

1.4 มีข้อมูลแผนการดำเนินธุรกิจและแผนการปฏิบัติการที่ชัดเจน ซึ่งอย่างน้อยแสดงให้เห็นเป้าหมายที่มุ่งหวัง, วิธีการดำเนินงาน, แนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยง และการกำกับดูแลที่ดี (0-3 คะแนน)

0 คะแนน กรณีไม่มีข้อมูล

1.5 คะแนน กรณีมีข้อมูลแต่ไม่ชัดเจนหรือมีบางส่วน

3 คะแนน กรณีมีข้อมูลและชัดเจนครบถ้วน

1.5 มีแผนการดำเนินงาน (Roadmap) ในอนาคตที่ชัดเจน น่าสนใจ และมีความเป็นไปได้อย่างสมเหตุสมผล (0-3 คะแนน)  


0 คะแนน กรณีไม่มีข้อมูล

1.5 คะแนน กรณีมีข้อมูลแต่ไม่ชัดเจนหรือมีบางส่วน

3 คะแนน กรณีมีข้อมูลและชัดเจนครบถ้วน

รวม 

15 คะแนน

ส่วนที่ 2 ประสบการณ์ของทีมและผู้พัฒนาโครงการ (25 คะแนน) เพื่อวัตถุประสงค์ในการคัดกรองสินทรัพย์ที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีข้อบ่งชี้ว่าอาจเป็นการหลอกลวง (scam) ในกรณีที่สินทรัพย์ดิจิทัลใดไม่มีข้อมูลดังต่อไปนี้ หรือมีแต่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ชัดเจน ทั้งนี้ การระบุตัวตนและประสบการณ์ของทีมและผู้พัฒนาโครงการเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพิจารณาสินทรัพย์ดิจิทัล จึงมีสัดส่วนคะแนนมากกว่าหลักเกณฑ์ส่วนอื่นๆ

2.1 สามารถระบุตัวตนเป็นรายบุคคลของทีมและผู้พัฒนาโครงการ (คะแนนเต็ม 5 คะแนน)

0 คะแนน กรณีระบุได้น้อยกว่าครึ่ง หรือระบุไม่ได้เลย

2.5 คะแนน กรณีระบุได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง

5 คะแนน กรณีระบุได้ทุกคน

2.2 จำนวนผู้ก่อตั้งและทีมงานหลักของโครงการ (คะแนนเต็ม 5 คะแนน)

0 คะแนน กรณีมีจำนวนน้อยกว่า 5 คน

2.5 คะแนน กรณีมีจำนวนมากกว่า 5 แต่น้อยกว่า 10 คน

5 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป

2.3 มีผู้ก่อตั้งหรือทีมงานหลักของโครงการที่มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์การทำงานด้านที่เกี่ยวข้องกับโครงการ (คะแนนเต็ม 5 คะแนน)

0 คะแนน กรณีไม่มีเลย

2.5 คะแนน กรณีมีแต่เป็นความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์การทำงานในสายงานที่ใกล้เคียง

5 คะแนน กรณีมีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ทำงานด้านที่เกี่ยวข้องกับโครงการโดยตรง

2.4 จำนวนของผู้ก่อตั้งหรือทีมงานหลักของโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง (คะแนนเต็ม 5 คะแนน)

0 คะแนน กรณีไม่มีเลย

2.5 คะแนน กรณีมีแต่เป็นการดำเนินโครงการครั้งแรก

5 คะแนน กรณีมีและมีประสบการณ์เคยเป็นผู้ก่อตั้งหรือทีมงานหลักของโครงการที่ออกและเสนอขายสำเร็จแล้ว

2.5 มีที่ปรึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (คะแนนเต็ม 5 คะแนน)

0 คะแนน กรณีไม่มีที่ปรึกษาเลย

2.5 คะแนน กรณีมีที่ปรึกษาแค่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง

5 คะแนน กรณีมีที่ปรึกษาทั้งสองด้าน

รวม

25 คะแนน

ส่วนที่ 3 Tokenomics (15 คะแนน)

3.1 ตารางการกระจายสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ทีมผู้พัฒนา (Team Vesting Schedule) (คะแนนเต็ม 5 คะแนน)

1 คะแนน กรณีกำหนดระยะเวลาการกระจายไว้น้อยกว่า 1 ปี

2 คะแนน กรณีกำหนดไว้ตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไปแต่น้อยกว่า 2 ปี จนกว่าจะกระจายครบถ้วน

3 คะแนน กรณีกำหนดไว้ตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไปแต่น้อยกว่า 3 ปี จนกว่าจะกระจายครบถ้วน

4 คะแนน กรณีกำหนดไว้ตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไปแต่น้อยกว่า 4 ปี จนกว่าจะกระจายครบถ้วน

5 คะแนน กรณีกำหนดไว้ตั้งแต่ 4 ปี ขึ้นไป จนกว่าจะกระจายครบถ้วน

3.2 จำนวนสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นอุปทานในตลาด (Circulating Supply) (คะแนนเต็ม 5 คะแนน)

1 คะแนน กรณีมีจำนวนน้อยกว่า 20% ของจำนวนสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นทั้งหมด

2 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 20% ขึ้นไปแต่น้อยกว่า 40% ของจำนวนสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นทั้งหมด

3 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 40% ขึ้นไปแต่น้อยกว่า 60% ของจำนวนสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นทั้งหมด

4 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 60% ขึ้นไปแต่น้อยกว่า 80% ของจำนวนสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นทั้งหมด

5 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 80% ขึ้นไปของจำนวนสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นทั้งหมด

3.3 ความหลายหลายของการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัล (คะแนนเต็ม 5 คะแนน)

1 คะแนน หากไม่มีการใช้งานใด หรือมีเพียงแค่สิทธิในการโหวต

3 คะแนน หากมีการใช้งานได้เพียง 1 ประเภท

5 คะแนน หากมีการใช้งานได้มากกว่า 1 ประเภท

รวม

15 คะแนน

ส่วนที่ 4 อุปสงค์และสภาพคล่องของตลาด (20 คะแนน)

4.1 จำนวนผู้ถือสินทรัพย์ดิจิทัล โดยตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ www.coinmarketcap.com หรือจากการตรวจสอบบน blockchain (คะแนนเต็ม 5 คะแนน)

1 คะแนน กรณีมีจำนวนน้อยกว่า 5,000 คน

2 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 5,000 คนขึ้นไปแต่น้อยกว่า 10,000 คน

3 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไปแต่น้อยกว่า 20,000 คน

4 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 20,000 คนขึ้นไปแต่น้อยกว่า 50,000 คน

5 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป

4.2 ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของเดือนที่ผ่านมาหรือปริมาณการซื้อขายครั้งแรก กรณีสินทรัพย์ที่เพิ่งออกและเสนอขายครั้งแรก โดยตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ www.coinmarketcap.com หรือจากการตรวจสอบบน blockchain (คะแนนเต็ม 5 คะแนน)


1 คะแนน กรณีมีจำนวนน้อยกว่า 1,000,000 บาท

2 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไปแต่น้อยกว่า 30,000,000 บาท

3 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 30,000,000 บาทขึ้นไปแต่น้อยกว่า 50,000,000 บาท

4 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 50,000,000 บาทขึ้นไปแต่น้อยกว่า 100,000,000 บาท

5 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 100,000,000 บาทขึ้นไป

4.3 มูลค่าตลาดของสินทรัพย์ดิจิทัล (Market Cap) เฉลี่ยรายวันย้อนหลัง 1 เดือน โดยตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ www.coinmarketcap.com (คะแนนเต็ม 5 คะแนน) 

1 คะแนน กรณีมีจำนวนน้อยกว่า 500,000,000 บาท

2 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 500,000,000 บาทขึ้นไปแต่น้อยกว่า 1,500,000,000 บาท

3 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 1,500,000,000 บาทขึ้นไปแต่น้อยกว่า 3,000,000,000 บาท

4 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 3,000,000,000 บาทขึ้นไปแต่น้อยกว่า 5,000,000,000 บาท

5 คะแนน กรณีมีจำนวนตั้งแต่ 5,000,000,000 บาทขึ้นไป

4.4 จำนวนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยอมรับให้มีการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น โดยศูนย์ซื้อขายดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติคือ (ก) ประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายในประเทศที่ดำเนินการ (ข) ไม่มีข่าวเรื่องปัญหาเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน และ (ค) เป็นศูนย์ซื้อขายที่อยู่ในรายชื่อ Top 50 ศูนย์ซื้อขายตามที่ประกาศใน www.coinmarketcap.com (คะแนนเต็ม 5 คะแนน)

1 คะแนน กรณีเป็นการออกและเสนอขายครั้งแรก

2 คะแนน กรณีมีการเสนอขายในศูนย์ซื้อขายอย่างน้อย 1 แห่งขึ้นไป แต่ไม่เกิน 2 แห่ง

3 คะแนน กรณีมีการเสนอขายในศูนย์ซื้อขายอย่างน้อย 2 แห่งขึ้นไป แต่ไม่เกิน 3 แห่ง

4 คะแนน กรณีมีการเสนอขายในศูนย์ซื้อขายอย่างน้อย 3 แห่งขึ้นไป แต่ไม่เกิน 4 แห่ง

5 คะแนน กรณีมีการเสนอขายโดยศูนย์ซื้อขายมากกว่า 4 แห่ง 

รวม

20 คะแนน

ส่วนที่ 5 การตรวจสอบรับรองและข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะ (15 คะแนน)

5.1 ได้รับการตรวจสอบและรับรอง Smart Contract โดยผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต หรือมีประสบการณ์ในการทำหน้าที่ตรวจสอบ หรือมีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับในวงกว้าง (คะแนนเต็ม 10 คะแนน)

0 คะแนน กรณีไม่มีการตรวจสอบและรับรอง

10 คะแนน กรณีมีการตรวจสอบและรับรอง

5.2 ไม่มีข่าวที่ปรากฏในสื่อสาธารณะในทางลบที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (คะแนนเต็ม 5 คะแนน)

0 คะแนน กรณีมีข่าวในทางลบ

5 คะแนน กรณีไม่มีข่าวในทางลบ

รวม

15 คะแนน

ส่วนที่ 6 คุณสมบัติพิเศษอื่นๆ (10 คะแนน)

6.1 เป็นโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายในประเทศไทยที่ดำเนินการผ่านผู้ให้บริการ ICO Portal ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. (คะแนนเต็ม 10 คะแนน)

0 คะแนน กรณีไม่ใช่

10 คะแนน กรณีใช่

รวม

10 คะแนน

รวมทั้งหมด

100 คะแนน

ผลการให้คะแนนคุณสมบัติ การให้คะแนนในแต่ละเกณฑ์ของคณะกรรมคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลต้องได้รับความเห็นชอบแบบเป็นเอกฉันท์ และสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะผ่านการคัดเลือกได้ต้องได้รับคะแนนอย่างน้อยร้อยละ 65 หรือ 65% จากคะแนนเต็มทั้งหมด โดยกรณีโทเคนดิจิทัลจะมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน แต่กรณีคริปโทเคอร์เรนซีจะมีคะแนนเต็ม 90 คะแนน (ไม่รวมส่วนที่ 6) ทั้งนี้ ให้ดำเนินการลงคะแนนด้วยวิธีการทางลับเพื่อไม่ให้ทีมวิเคราะห์ที่เป็นผู้นำเสนอรู้แนวทางการให้คะแนนของคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล

8. กระบวนการเพื่อป้องกันการใช้ข้อมูลภายในหรือการสร้างความขัดแย้งทางผลประโยชน์

เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัทฯ กำหนดให้ต้องมีการทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือกับผู้ให้บริการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องออกและเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือเทียบเท่า) ให้มีการเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่เป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครองครองข้อมูลภายใน ตามนิยามและข้อสันนิษฐานในพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ให้แก่บริษัท รวมถึงให้ทบทวนรายชื่อดังกล่าวให้เป็นปัจจุบันและแจ้งให้บริษัททราบเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่เสมอ

นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส ปราศจากแนวโน้มการใช้ข้อมูลภายใน หรือการสร้างความขัดแย้งทางผลประโยชน์ อันอาจเกิดจากอคติหรือการแทรกแซงโดยผู้ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล บริษัทกำหนดกลไกควบคุมเพิ่มเติมขึ้น ดังนี้ 

  1. บริษัทฯ กำหนดให้การติดต่อระหว่างบริษัทฯ กับผู้ออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการผ่าน “ผู้ติดต่อประสานงานกลาง” ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลจากบุคคลในฝ่ายการตลาด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการใช้ประโยชน์โดยมิชอบจากการทำหน้าที่ บริษัทฯ กำหนดให้ผู้ติดต่อประสานงานกลางจะไม่สามารถล่วงรู้หรือเข้าถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกและวิธีการให้คะแนนของคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลได้ 

  2. บริษัทฯ กำหนดไม่ให้ทีมวิเคราะห์มีการติดต่อโดยตรงกับผู้ออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการวิเคราะห์ และประเมินสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ว่าในลักษณะใดหรือไม่ว่าจากช่องทางใด จะต้องดำเนินการภายใต้มาตรฐานและหลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมด นอกจากนั้น บริษัทฯ กำหนดให้ทีมวิเคราะห์ ได้แก่หัวหน้าทีมวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่ทีมวิเคราะห์จะทราบถึงหลักเกณฑ์หรือหัวข้อของคุณสมบัติที่ใช้พิจารณาการคัดเลือก เพื่อให้สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง แต่ทีมวิเคราะห์จะไม่สามารถล่วงรู้เกณฑ์การให้คะแนน รวมถึงน้ำหนักหรือสัดส่วนของการให้คะแนนของแต่ละหัวข้อได้ 

  3. ในกรณีที่ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ทีมวิเคราะห์ หรือกรรมการในคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้ออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกหรืออยู่ระหว่างการพิจารณา ในลักษณะการเป็นบุคคลเกี่ยวข้องหรือเป็นบุคคลที่เคยได้รับการว่าจ้างให้ทำงานเกี่ยวเนื่องกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น หรือในลักษณะความสัมพันธ์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ให้ผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวแจ้งให้ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย กำกับดูแลการปฏิบัติงาน และบริหารความเสี่ยงทราบผ่านช่องทางอีเมล พร้อมกับการชี้แจงเหตุแห่งโอกาสความขัดแย้งดังกล่าว และผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวต้องยุติบทบาทใดๆที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่ตนมีความเกี่ยวข้องดังกล่าว 

  4. มีการกำหนดสร้างกลไก Chinese Wall ขึ้นระหว่างทีมงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล และทีมปฏิบัติ งานอื่นของบริษัท นอกจากนี้มีการกำหนดนโยบายห้ามใช้ข้อมูลภายใน (ที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะ) ขึ้นเป็นการ เฉพาะภายใต้กลไกการตรวจสอบ และควบคุมภายใน

9. กระบวนการทบทวนคุณสมบัติของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการให้บริการ

ภายหลังจากการเปิดให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวผ่านระบบ บริษัทฯ กำหนดกลไกตรวจสอบและติดตาม สินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว เพื่อเสนอการทบทวนคุณสมบัติโดยคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล ใน 2 ลักษณะ คือ

  1. การตรวจสอบ ติดตาม และทบทวนคุณสมบัติสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการ จะเป็นการดำเนินการโดยทีมวิเคราะห์เพื่อทบทวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาให้บริการว่า ยังคงมีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ หรือมีเหตุอันอาจนำไปสู่ความเสี่ยงเพิ่มเติมในการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวหรือไม่ 

กรณีสินทรัพย์ดิจิทัลใดไม่ผ่านการตรวจสอบ และติดตามทบทวนคุณสมบัติประจำปี ทีมวิเคราะห์จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ สินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในเชิงลึกเพิ่มเติม ก่อนนำเสนอสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการเพิกถอนสินทรัพย์ ดิจิทัล ในขั้นต่อไป ตามกระบวนการที่กำหนด

  1. การตรวจและติดตามสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัทฯ โดยทีมวิเคราะห์ ต้องติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่หลากหลาย (เช่น GitHub / Telegram) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการให้บริการซื้อขาย ในระบบของบริษัท ซึ่งอาจรวมถึง การเกิด hard forks การถูกโจมตีระบบ ความล่าช้าหรือหยุดชะงักในการดำเนินโครงการ ที่เกี่ยวข้องของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานหรือกลไกของ blockchain หรือ smart contract การเปลี่ยนแปลงในทีมงาน หรือโครงการบริหารจัดการโครงการหรือการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ หรือเทคโนโลยีที่อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่า และความชอบด้วยกฎหมายของสินทรัพย์ดิจิทัล ดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้การติดตามและวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทจึงกำหนดหน้าที่หลักให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ทีมวิเคราะห์เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามข้อมูลข่าวสาร สภาพการซื้อขาย ความสามารถและคุณสมบัติของสินทรัพย์ ดิจิทัลเป็นการทั่วไป รวมถึงติดตามความถูกต้องและสอดคล้องกับกฎหมายของสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาซื้อขาย โดยเฉพาะความสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศไทย และความเสี่ยงทางด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการสนับสนุนการก่อการร้ายอื่นๆ การหลอกลวง (scam) หรือลักษณะความเสี่ยงภายใต้กฎหมายอื่น โดยให้ทีมวิเคราะห์ขอคำปรึกษาหรือความเห็นจากฝ่ายงานอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย หากจำเป็น

  • ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและฝ่ายปฏิบัติการ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ความเห็นแก่ทีมวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องในแง่มุมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 

  • ฝ่ายกฎหมาย กำกับดูแลการปฏิบัติงาน และบริหารความเสี่ยง ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ความเห็นแก่ทีมวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในแง่มุมด้านกฎหมาย กฎระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ต่างๆ

หากภายหลังการตรวจสอบ ทีมวิเคราะห์ได้พบปัจจัยใดๆ ที่ส่งผลให้สินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวอาจไม่มีคุณสมบัติที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท ให้ทีมวิเคราะห์ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานต่างๆ เพื่อนำเสนอเข้าสู่กระบวนการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลในขั้นต่อไป

10. กระบวนการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทฯ จะมีกระบวนการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ชัดเจน เป็นธรรม สอดคล้องกับกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบต่อลูกค้าเป็นสำคัญนั้น บริษัทฯ ได้กำหนดกระบวนการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนหลัก คือ การพิจารณาโดยคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล และการดำเนินการตามแผนการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

10.1 การพิจารณาโดยคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล

ภายหลังการพบปัญหา หรือความเสี่ยง หรือเหตุปัจจัยที่นำไปสู่เหตุการณ์เพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลจากกระบวนการ ทบทวนและตรวจสอบ ทีมวิเคราะห์จะนำเสนอปัญหาหรือความเสี่ยงดังกล่าวให้คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล พิจารณาอีกครั้ง ด้วยการจัดทำ Delisting Memo โดยคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินว่า ควรจะเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นออกจากระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล พิจารณาดำเนินการได้ ดังนี้

  1. ให้คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล พิจารณาคุณสมบัติของสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลและให้คะแนนเสมือนขั้นตอนที่ทำการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น เพื่อให้บริการ โดยใช้หลักเกณฑ์ตามเดิม 

  2. อย่างไรก็ดี หากคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลพิจารณาแล้วเห็นว่า ปัญหาหรือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นๆ เป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญ หรือเป็นเหตุร้ายแรง เช่น ปัญหาการปฏิบัติผิดกฎหมาย ความเสี่ยงในการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดในไวท์เปเปอร์ (white paper) และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในสาระสำคัญ (ในกรณีที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเป็นผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการซื้อขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวเองหรือบุคคลซึ่งมีความเกี่ยวข้อง) หรือผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนด เป็นต้น ให้คณะกรรมการ คัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลมีคำสั่งให้เพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลทันที 

  3. แต่ในกรณีที่เหตุของการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเหตุที่อาจแก้ไขได้ เช่น มูลค่าการซื้อขาย หรือความล่าช้า ในการปฏิบัติตาม Roadmap เป็นต้น ให้คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดระยะเวลาสำหรับการแก้ไขที่เหมาะสมกับสาเหตุที่เกิดขึ้น และให้ผู้ติดต่อประสานงานกลางแจ้งให้ผู้ออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว ดำเนินการแก้ไขให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว ทางทีมวิเคราะห์ต้องมีหน้าที่ติดตามความคืบหน้า ในการแก้ไขปัญหา 

  4. หากผู้ออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ทีมวิเคราะห์รายงานให้คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลรับทราบ เพื่อมีคำสั่งให้เพิกถอนสินทรัพย์ดังกล่าวต่อไป แต่หากผู้ออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว ให้ทีมวิเคราะห์รายงานให้คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลรับทราบ เพื่อพิจารณาว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างเหมาะสมและสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นยังคงมีคุณสมบัติที่จะให้บริการบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่ หากได้คะแนนผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็ให้กรณีดังกล่าวเป็นอันยุติ แต่หากยังไม่สามารถได้คะแนนผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ ให้คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลมีคำสั่งให้ เพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว

ผลการประเมินการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นที่สุด และบริษัทกำหนดให้ทีมวิเคราะห์ต้องจัดทำบทบันทึกการตัดสินใจและการประเมินของคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลไว้เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงต้องมีการอธิบายถึงเหตุผลของการเพิกถอนที่ใช้ พร้อมทั้งคำสั่งให้ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและฝ่ายปฏิบัติการร่วมกันศึกษาวิธีการและระยะเวลาที่ต้องใช้ในการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว เพื่อจัดทำแผนการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลออกจากระบบ 

10.2 การดำเนินการตามแผนเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

(1) หลังจากคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลมีคำสั่งให้เพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลใดแล้ว ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์นับจากวันที่มีคำสั่ง ให้หัวหน้าแผนกพัฒนาโปรแกรมและประกันคุณภาพและหัวหน้าแผนกปฏิบัติการศูนย์ซื้อขายร่วมกันจัดทำแผนการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลให้แล้วเสร็จ และนำเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ แผนการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว ต้องประกอบไปด้วยเนื้อหาอย่างน้อยดังต่อไปนี้

  • วันและเวลาที่บริษัทจะระงับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว และคำสั่งซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวทั้งหมดที่ยังไม่ได้รับการจับคู่จะถูกยกเลิก

  • วันและเวลาที่บริษัทจะระงับการฝากสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว

  • วันและเวลาที่บริษัทจะระงับการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว และสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวจะถูกถอดออกจากระบบ

  • ผลที่จะเกิดขึ้นหากลูกค้าไม่ดำเนินการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะถูกเพิกถอนภายในเวลาที่กำหนด โดยลูกค้าจะไม่สามารถถอนสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวด้วยตนเองผ่าน Platform ได้ เนื่องจากระบบจะปิดการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดทันที แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประโยชน์ของลูกค้าบริษัทจะจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวไว้แทนลูกค้าตลอดไป (แต่บริษัทสงวนสิทธิในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวแทน โดยบริษัทจะแจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นรายกรณี) และลูกค้าสามารถติดต่อฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ผ่านช่องทาง Chat (ซึ่งบริษัทจะแจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นการเฉพาะในเอกสารการแจ้งกระบวนการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว) เพื่อทำการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวได้ในภายหลัง (ทั้งนี้ บริษัทสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวตามที่เห็นสมควร)

(2) ภายหลังจากที่คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลได้ให้ความเห็นชอบกับแผนการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่กล่าวข้างต้นแล้ว ให้หัวหน้าแผนกปฏิบัติการศูนย์ซื้อขายและเจ้าหน้าที่แผนกลูกค้าสัมพันธ์ ดำเนินการแจ้งให้ลูกค้าทราบการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวพร้อมทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวกับวันเวลาและแผนดำเนินงานต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในแผนการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความเห็นชอบ ล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน ก่อนวันและเวลาที่บริษัทจะระงับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว ผ่านทาง (ก) หน้าเว็บไซต์ หรือ Mobile Application ด้วยการทำ Pop-up Notification (ข) อีเมลที่ได้ผู้ใช้บริการได้ลงทะเบียนไว้ (ค) การส่ง Notification ไปยังผู้ใช้บริการ 

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มิได้มีเหตุเร่งด่วนนั้น บริษัทฯจะให้ระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน เพื่อให้ลูกค้าดำเนินการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกเพิกถอน

(3) ให้ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยหัวหน้าแผนกพัฒนาโปรแกรมและประกันคุณภาพ ดำเนินการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลตามแผนการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความเห็นชอบ แล้วเมื่อการดำเนินการแล้วเสร็จ ให้รายงานให้คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลทราบ และแจ้งให้ทีมวิเคราะห์ทราบเพื่อการติดตามผลและการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องต่อไป

กรอบระยะเวลารวมในการดำเนินการเพื่อการเพิกถอนสินทรัพย์ ภายหลังจากการตัดสินใจเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและฝ่ายปฏิบัติการต้องร่วมกันวางแผนกรอบระยะเวลารวมในการดำเนินการเพื่อเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวออกจากระบบการซื้อขายของบริษัท โดยสูงสุดกำหนดไว้ไม่เกิน 3 เดือน เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น 

11. กลไกการสื่อสารและการตรวจสอบการปฏิบัติตามนโยบาย

บริษัทฯ โดยฝ่ายกฎหมาย กำกับดูแลการปฏิบัติงาน และบริหารความเสี่ยงกำหนดกลไกในการควบคุม และติดตามการปฏิบัติ หน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กรอบนโยบายการคัดเลือก และเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านกลไก ดังนี้

1. ฝ่ายบุคคลและบริหารงานทั่วไป ต้องจัดให้มีการฝึกอบรมให้แก่ พนักงานทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการคัดเลือก สินทรัพย์ดิจิทัล โดยต้องอบรม (ก) เมื่อพนักงานดังกล่าวเริ่มรับตำแหน่งงานใหม่ (ข) ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการดังกล่าว หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยบริษัทจะเก็บหลักฐานการฝึกอบรมดังกล่าวไว้

2. แผนกกำกับดูแลการปฏิบัติงาน มีหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบกลไกการทำงานทั้งหมดให้ถูกต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำหนดไว้ เพื่อรายงานให้คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงรับทราบ อย่างน้อยเป็นรายปี โดยให้ขอบเขตการตรวจสอบครอบคลุมอย่างน้อยเรื่องดังต่อไปนี้

  1. กระบวนการสมัครและการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล

  2. การประเมินและคัดกรองเบื้องต้นโดยทีมวิเคราะห์

  3. การคัดเลือกโดยการให้คะแนนคุณสมบัติโดยคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล

  4. กระบวนเพื่อป้องกันการใช้ข้อมูลภายในหรือการสร้างความขัดแย้งทางผลประโยชน์

  5. กระบวนการทบทวนคุณสมบัติของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการ

  6. กระบวนการเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตรวจสอบโดยการสุ่มตรวจบันทึกและเอกสารที่ได้ดำเนินการภายใต้กลไกกระบวนการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดำเนินการมาก่อนหน้าระยะเวลาดังกล่าว รวมถึงการเปิดให้มีกรณีการร้องเรียนแบบ whistleblower ได้ นอกจากนั้น หากพบการกระทำผิดโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้แผนกกำกับดูแลการปฏิบัติงานรายงานให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบ เพื่อพิจารณามาตรการลงโทษที่เหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงการพักงาน, การเลิกจ้าง, และการเรียกค่าเสียหาย (ถ้ามี)

12. การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการซื้อขาย

ในกรณีของโทเคนดิจิทัล บริษัทฯ มีข้อกำหนดให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนทราบในกรณีดังต่อไปนี้

การเปิดเผยข้อมูลของผู้ออกโทเคนดิจิทัล

ผู้ที่มีหน้าที่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 15/2561 เรื่อง การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (“ประกาศที่ กจ. 15/2561”)

ผู้ที่ไม่มีหน้าที่ตามประกาศที่ กจ. 15/2561 แต่นำโทเคนดิจิทัลที่ตนออกมาซื้อขายกับบริษัทฯ ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

1. ข้อมูลที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีหน้าที่ต้องเปิดเผยต่อผู้ลงทุนตามประกาศที่ กจ. 15/2561 ทั้งนี้ ผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวโดยไม่ชักช้า

-

2. การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุน ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ดังนี้ ทั้งนี้ ผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวโดยไม่ชักช้า

2.1 กรณีที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ออกโทเคนดิจิทัลหรือต่อโทเคนดิจิทัลที่นำมาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ

2.2 ผู้ออกโทเคนดิทัลที่มีการฟื้นฟูกิจการ

-

2.3 ผู้ออกโทเคนดิจิทัลประสบความเสียหายอย่างร้ายแรง

-

2.4 ผู้ออกโทเคนดิจิทัลหยุดประกอบกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน

-

2.5 ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์หรือลักษณะการประกอบธุรกิจ

-

2.6 ผู้ออกโทเคนดิจิทัลทำสัญญาให้บุคคลอื่นมีอำนาจทั้งหมดหรือบางส่วนในการบริหารงานของบริษัท

-

2.7 ผู้ออกโทเคนดิจิทัลกระทำหรือถูกกระทำอันมีลักษณะเป็นการครอบงำหรือถูกครอบงำกิจการตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

-

2.8 ผู้ออกโทเคนดิจิทัลผิดข้อตกลงในการชำระหนี้ตามโทเคนดิจิทัล

-

2.9 ผู้ออกโทเคนดิจิทัลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลงใดๆ ที่เกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลในสาระสำคัญ

-

2.10 เหตุการณ์อื่นใดที่ทำให้หรืออาจทำให้ต้องยกเลิกโทเคนดิจิทัล หรือเลิกโครงการ กิจการ หรือ แผนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัล

-

3. การแก้ไขแบบแสดงรายการข้อมูลการเสอนขายโทเคนดิจิทัลและหนังสือชี้ชวนหรือการแก้ไขไวท์เปเปอร์ในกรณีที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีการจัดทำไวท์เปเปอร์ ทั้งนี้ ผู้ออกโทเคนดิจิทัลต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอย่างน้อย 15 วันก่อนที่การแก้ไขดังกล่าวมีผลใช้บังคับ

4. ราคาเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ไม่ว่าจะเป็นการเสนอขายโดยเปิดให้ผู้ลงทุนจองซื้อหรือเสนอขายผ่านระบบการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล) หรือในกรณีที่ไม่มีการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ให้เปิดเผยข้อมูลการประเมินมูลค่าของโทเคนดิจิทัลที่สัมพันธ์กับสินค้าและบริการที่รองรับโทเคนดิจิทัลดังกล่าว ตลอดระยะเวลาที่มีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ

5. สัดส่วนโทเคนดิจิทัลของผู้ลงทุนที่ได้โทเคนดิจิทัลมาโดยไม่เสียค่าตอบแทนหรือในราคาตํ่ากว่าราคาเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อจำนวนโทเคนดิจิทัลทั้งหมด โดยให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวตลอดระยะเวลาที่มีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ